“ไม้ยางพารา” อุตสาหกรรมดาวรุ่งดวงใหม่ของไทย

ธุรกิจ

ราคายางพาราที่เพิ่มขึ้นในอดีตทำให้มีการปลูกยางพารามากขึ้น และส่งผลให้ปริมาณไม้ยางพาราของไทยโตขึ้นอย่างมาก อีไอซีคาดว่าในระยะกลางปริมาณไม้ยางพาราในประเทศจะเติบโตขึ้นราว 3% จาก 20 ล้านตันในปี 2016 เป็นราว 23 ล้านตันในปี 2020 (รูปที่1) โดยมีสาเหตุมาจากการปลูกยางพาราที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 1991-1995 ทั้งนี้ ยางพารามีอายุประมาณ 25 ปี หลังจากนั้นจะให้ผลผลิตน้ำยางน้อยลงมากจึงทำให้เกษตรกรต้องโค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกใหม่ทดแทน สำหรับในระยะยาวนั้นคาดว่าปริมาณไม้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นอีกกว่าราว 5% ต่อปี หรือคิดเป็น 35 ล้านตันในปี 2030 จากการปลูกยางพาราใหม่ในช่วงปี 2000-2005 แม้ว่าราคายางพาราได้เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2011 แต่การปลูกยางพาราใหม่ในแต่ละปีก็ยังค่อนข้างคงที่ เนื่องจากผลตอบแทนจากการปลูกยางยังสูงกว่าพืชเกษตรชนิดอื่น

ไม้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยม โดยไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ซึ่งคิดเป็นกว่า 65% ของปริมาณไม้ยางพาราที่ผลิตได้ ไม้ยางพาราของไทยมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในแง่คุณภาพและราคาเมื่อเทียบกับไม้เศรษฐกิจอื่น เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งที่สามารถแปรรูปได้ง่าย อีกทั้งระดับราคาที่ไม่แพงนักและใกล้เคียงกับไม้ชนิดอื่น (รูปที่ 7) จึงมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง นอกจากนี้ ไม้ยางพารายังเป็นไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นไม้ที่ได้จากสวนยางไม่ได้เป็นการตัดไม้ในธรรมชาติ ทั้งนี้ คุณสมบัติดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี สำหรับอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณไม้ยางจำนวนมากนั้นไม่ได้เป็นคู่แข่งกับไทย เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่ได้ส่งออกไม้ยางพารา แต่นำไม้ไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออกแทน