แนวโน้มสินค้าเพื่อสุขภาพจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น


ตลาดสุขภาพยังคงเป็นกระแสมาแรงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง เนื่องจากสุขภาพไม่ใช่เป็นแค่เทรนด์อีกต่อไป

เมื่อคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น จนกลายเป็นไลฟ์สไตล์ ที่คนไทยขาดไม่ได้เสียแล้ว เนื่องจากปัจจุบันนี้ไม่มีใครอยากเข้าโรงพยาบาล เพราะค่าใช้จ่ายสูงทำให้คนมุ่งหันให้ความสำคัญกับสุขภาพในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษา จึงเชื่อว่าสินค้าเพื่อสุขภาพจะเป็นอีกกระแสหนึ่งที่มาแรงในปี 2557

แม้การทำตลาดของบรรดาสินค้าต่างๆ ในปัจจุบัน มีหลายสินค้าที่มุ่งเน้นการใช้กลยุทธ์เจาะตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ง่ายและสามารถเปลี่ยนยี่ห้อ หรือ สวิตชิ่งแบรนด์ ได้ตลอดเวลา หากว่าสินค้านั้นๆ สามารถตอบโจทย์ได้ตรงใจ

แต่ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ต้องยกให้เป็นกลุ่มลูกค้าหลักสำหรับตลาดในอนาคต นั่นคือกลุ่มลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปและกลุ่มคนสูงอายุ เหตุผลก็เพราะคนกลุ่มนี้เริ่มมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง มีกำลังซื้อที่ดีนั่นเอง

อิทธิพลสำคัญต่อการวางแผนธุรกิจขององค์กรต่างๆ ดังจะเห็นได้ว่าสินค้าที่ออกมาทำตลาดในปัจจุบัน จะมีการเพิ่มมูลค่าหรือใส่ความเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มเสริมอาหารและเครื่องสำอาง เพื่อเจาะตลาดนี้โดยเฉพาะ และมีหลายบริษัทเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการหันมาบุกในตลาดนี้มากขึ้น โดยมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อแย่งชิงเค้กก้อนใหญ่นี้

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปีหน้ายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเทรนด์การดูแลห่วงใย ใส่ใจสุขภาพ ที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทุกช่วงวัย การให้ความสำคัญกับการดูแลภาพลักษณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะเน้นรูปร่างและความสวยงาม เนื่องจากต้องการส่งเสริมบุคลิกภาพของตนเองให้ดียิ่งขึ้นในสังคม รวมถึงอายุเฉลี่ยของคนในสังคมไทยที่ยืนยาวมากขึ้น ทำให้ผู้คนยิ่งต้องดูแลสุขภาพมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกช่วงวัย

โดยเฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อผู้สูงอายุนั้น แนวโน้มจะเติบโตไปตามอัตราการเติบโตโดยรวมของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและการพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุ หรือ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2503 มีจำนวนประชากรสูงอายุเพียง 1.5 ล้านคน คิดเป็น 5.4% ของประชากรทั้งหมด แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านคนในปี 2553 และได้ประเมินไว้ว่า จำนวนผู้สูงอายุในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นจากปีหน้าอีก 2 เท่า เป็น 14.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของประชากรทั้งหมด นั่นแสดงว่า ประเทศไทยกำลังค่อยๆ ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั่นเอง

ในขณะที่ตลาดเสริมอาหารบิวตี้และลดน้ำหนักเติบโตลดลง แต่กลับพบว่าเสริมอาหารในกลุ่มดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะวิตามินมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10-15% ซึ่งเป็นผลจากคนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ รวมทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารเสริมเป็นในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษา

ดังนั้น แนวโน้มสินค้าเพื่อสุขภาพจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีทิศทางคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสินค้าเพื่อสุขภาพนั้น ไม่ได้เจาะจงไปที่ผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค หรืออาหารเสริมเท่านั้น แต่หมายถึงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสุขภาพสำหรับสินค้าต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปด้วย